รวม 5 จุดกางเต็นท์ชมทะเลหมอกราคาประหยัด (อัพเดทหน้าหนาวปี 2016)

สวัสดีครับๆเพื่อนชาว HANG REVIEW ในวันนี้แอดมินจะกลับมาอีกครั้งด้วยรีวิวแบบจัดเต็มที่ไม่เคยมีมาก่อน ด้วยรายละเอียดสถานที่ท่องเที่ยวแบบกางเต็นท์ 5 แห่งยอดฮิตในเมืองไทยในราคาประหยัดติดทะเลหมอก โดยจะรีวิวทุกซอกทุกวิวพร้อมรายละเอียดการเดินทางและ LOCATION MAP อย่างครบถ้วน ถ้าเพื่อนๆชอบใจก็ช่วยกัน Like กัน SHARED ให้เพจเราด้วยนะครับ

ม่อนตะวัน (จ.เชียงใหม่)

มาถึงสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับการการเต็นท์แห่งแรกในวันนี้กันครับ ได้แก่ “ม่อนตะวัน” ที่มีระดับความสูง 1,350 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นม่อนลูกที่อยู่ตรงจุดกึ่งกลางระหว่างหมู่บ้านหนองหอยและหนองหอยใหม่ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจาก ม่อนแจ่ม และศูนย์โครงการหลวงหนองหอย ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่  สามารถมองเห็นทิวทัศน์ไปได้ไกลรอบทิศ เหมาะที่จะเป็นจุดชมวิว ทั้งทิวทัศน์รอบข้างก็งดงาม อากาศเย็นสบาย…เป็นจุดที่ไม่ควรพลาดในการท่องเที่ยวแบบกางเต็นท์และต้องไม่ลืมการแวะไปเยี่ยมชมอย่างยิ่ง

แหล่งท่องเที่ยวอย่างม่อนตะวันนั้นมีแหล่งกางเต็นท์และที่พักที่ตั้งอยู่ท่ามกลางภูเขาสูง ซึ่งต้องเรียกว่าตั้งอยู่ในโลเคชั่นที่ตั้งอยู่เกือบสูงที่สุดบนดอยม่อนแจ่ม ทำให้สามารถมองเห็นวิวได้แบบ 360 องศา นอกจากบ้านพักแล้ว ยังมีแปลงผักอยู่รายล้อม แปลงผักดังกล่าวเป็นแปลงที่ทางโครงการหลวงหนองหอยเข้ามาส่งเสริมให้ความรู้ในการเพาะปลูก  เราสามารถลงไปเดินเล่นถ่ายภาพชมวิวได้ตามสบาย  ยิ่งช่วงที่ฝนตกใหม่ๆ ก็จะได้เห็นทะเลหมอกลอยมาทักทายตรงหน้าอีกด้วย

บ้านพักมีหลายหลังเห็นวิวภูเขาเกือบทุกหลัง โดยเป็นอีกหนึ่งที่ท่องเที่ยวที่เห็นทะเลหมอกได้ชัดเจนที่สุด โดยสำหรับราคาบ้านพัก ถ้าพัก 2 คน หลังสีชมพู หลังละ 1000 บาท  4 คน เป็นบ้านที่มีดาดฟ้า  จะอยู่ที่ 1500 บาท ต่อหลัง   มีเต็นท์เช่านอน 3 คน พร้อม หมอน ผ้าห่ม  ราคาหลัง  600 บาท  และคอนเฟิร์มว่าคุ้มค่าคุ้มราคามากๆ หรือใครจะนำเต็นท์มากางเองก็คิดแค่ 60-80 บาท / หลังเท่านั้นเอง

การเดินทาง

ม่อนตะวันนั้นไปในเส้นทางเดียวกันกับม่อนแจ่ม แต่มีแยกบอกตลอดทางว่าม่อนตะวันเลี้ยวซ้ายซึ่งไปทางเดียวกับม่อนวิวงาม ม่อนแจ่มเลี้ยวขวา ส่วนการเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ราวๆ 35 กิโลเมตร มาตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1096 แม่ริม-สะเมิง เลยโป่งแยงแอ่งดอยรีสอร์ทไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะเจอ 3 แยกขนาดเล็ก มีป้ายบอกเลี้ยวขวาไปโครงการหลวงหนองหอย ขับขึ้นไปอีกประมาณ 7 กิโลเมตรก็ถึงม่อนตะวันแห่งนี้

การเดินทางโดยรถประจำทาง นั่งรถจากอาเขตมาลงที่สถานีขนส่งช้างเผือกที่ตัวเมืองเชียงใหม่ แล้วต่อรถสองแถวสาย แม่ริม-สะเมิง มาลงตรงทางแยกขึ้นโครงการหลวงหนองหอย แล้วโทรให้รีสอร์ทมารับ หรือหลายคนในเว็บ Pantip นิยมโบกรถขึ้นไป

LOCATION

_______________________________________________

ดอยสามหมื่น (จ.เชียงราย)

ห้วยน้ำรู และ ดอยสามหมื่น ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว อยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง ห่างจากดอยช้างประมาณ 10 กิโลเมตร ห้วยน้ำรูมีลักษณะเป็นตาน้ำเล็กๆ ที่สร้างความชุ่มชื้นให้แก่ผืนป่าของดอยสามหมื่น และเป็นต้นน้ำของลำน้ำแม่แตงที่ไหลลงสู่ลำน้ำแม่ปิง ส่วนดอยสามหมื่นเป็นที่ตั้งของหน่วยจัดการต้นน้ำ ซึ่งมีจุดชมทิวทัศน์อยู่บนยอดดอย วันที่มีอากาศแจ่มใสสามารถมองเห็นดอยหลวงเชียงดาวสูงตระหง่านเด่นชัด ดอยสามหมื่นเป็นชื่อของแนวเขาทั้งดอยรวมเรียกว่า “ดอยสามหมื่น” เป็นดอยหนึ่งในเทือกเขาถนนธงชัย ที่ดอยสามหมื่นนี้เป็นจุดชมวิวที่งดงามอีกแห่งหนึ่งมีหมู่บ้านชาวเขาเผ่าลีซอ ทัศนียภาพสวยงาม มีการปลูกกาแฟและพืชเมืองหนาวต่างๆ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เฉลี่ย 1,400 เมตร เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลุ่มน้ำปิง และลุ่มน้ำสาละวิน

ห้วยน้ำรู และ ดอยสามหมื่นนี้เหมาะกับนักท่องเที่ยวผู้ชื่นชอบการเดินป่า เพราะหนทางทุรกันดาร อีกทั้งอาหารการกินไม่มีบริการ ต้องหอบหิ้วเอาขึ้นไปเอง แต่เมื่อเทียบกับความสวยงานที่จะได้เห็นก็ถือว่าคุ้มค่ากับความลำบาก

การเดินทาง ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ประมาณ ๑๓๐ กิโลเมตร ใช้ถนนสายเชียงใหม่-ห้วยน้ำดัง และเลยเข้าไปทางห้วยน้ำดังอีก ๒๐ กิโลเมตร ทางยังไม่ลาดยางใช้ได้เฉพาะฤดูแล้งเท่านั้น ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๔ ชั่วโมง มีบ้านพักแต่ต้องจองล่วงหน้าอย่างน้อย ๒ เดือน ที่ส่วนอนุรักษ์ต้นน้ำ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. ๐ ๒๕๗๙ ๗๕๘๖-๗

ใช้เส้นทาง 2 เส้นทางคือ

– จากตัวจังหวัดเชียงใหม่ ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 (เชียงใหม่-ฝาง) เลี้ยวซ้ายระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 35-36 (ตลาดแม่มาลัย) เข้าสู่ถนนแม่มาลัย-ปาย ระยะทางประมาณ 75 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนน ร.พ.ช.ผ่านที่ทำการอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวซ้ายสู่ถนนดิน ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการหน่วยจัดการต้นน้ำดอยสามหมื่น

ห้วยน้ำรู หรือ ดอยสามหมื่น ตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว จ.เชียงใหม่

LOCATION

_______________________________________________

ปางอุ๋ง (จ.แม่ฮ่องสอน)

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวในการกางเต็นท์ที่ต่อมาไปของเรานั้น ได้แก่ “ปางอุ๋ง” จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยที่นี่มีลักษณะเป็นพื้นที่เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่บนยอดเขาสูง ริมอ่างเก็บน้ำเป็นทิวสนที่ปลูกเรียงรายกัน ปางอุ๋ง ที่หลายๆ คนอาจยังไม่เข้าใจความหมาย คำว่า “ปาง” ซึ่งหมายถึงที่พักของคนทำงานในป่า ส่วน “อุ๋ง” นั้น เป็นภาษาเหนือหมายถึงที่ลุ่มต่ำ คล้ายกระทะใบใหญ่มีน้ำขังเฉอะแฉะ ก็น่าจะหมายถึงที่พักริมอ่างเก็บน้ำ

ปางอุ๋งอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ห่างจากตัวเมืองประมาณ 40 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในโครงการสวนป่าในพระราชดำริปางตอง 2 เป็นหนึ่งในสถานที่ฮอตฮิตโรแมนติกที่สุดอันดับต้นๆ ของเมืองไทย เนื่องจากมีป่าสนขึ้นเรียงรายอยู่รอบๆ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่บนยอดเขา บรรยากาศสงบเงียบโดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาวเดือนธันวาคม-มกราคม รุ่งเช้าจะมีลมหนาวพัดมาพร้อมกับไอหมอกที่ลอยอยู่เหนือผืนน้ำ ประกอบกับความสวยงามของแสงแดดอุ่นๆ สาดแสงแรกกระทบยอดเขาเป็นภาพที่สวยงามที่สุดจนถูกขนานนามว่า “สวิสเซอร์แลนด์แห่งเมืองไทย” และในยามค่ำคืนหากได้พักค้างที่ปางอุ๋งก็จะเห็นดวงดาวสวยงามละลานตาเต็มท้องฟ้า

ระเบียบข้อปฏิบัติในพื้นที่โครงการจัดหมู่บ้านรวมไทยตามพระราชดำริ (ปางอุ๋ง)
นักท่องเที่ยวประเภทพักค้างแรม – ต้องลงทะเบียน ผ่านศูนย์ศิลปาชีพ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงจะสามารถนำรถเข้าปางอุ๋งได้ – โทรศัพท์ 053-611-244 มือถือ 085-618-3303 โทรสาร 053-611-649, 053-611-690 – การจองที่พัก ให้แจ้งชื่อและเบอร์ติดต่อกลับ แก่เจ้าหน้าที่ (พื้นที่รองรับได้ 500 คน/วัน)

– ถึงแม้จะมีบัตรค้างแรมแต่ก็นำรถเข้าออกพื้นที่ได้ระหว่างเวลา 09.00 – 18.00 น. เท่านั้น

นักท่องเที่ยวประเภทไปกลับ – ผู้ที่ไม่มีบัตรค้างแรม จะต้องนำรถไปจอดไว้ที่ โรงเรียนบ้านนาป่าแปก หรือ วัดนาป่าแปก – โดยสารรถสองแถวของชุมชนเข้าไปที่ปางอุ๋งซึ่งให้บริการระหว่างเวลา 04.00 – 18.00 น. – บัตรโดยสารคนละ 50 บาท (ใช้ได้ทั้งขาไปและกลับเหมือน Airport Link Express Line)

– รถออกทุก 20 นาที กรณีเหมาคัน (ผู้โดยสารไม่เกิน 6 คน) คิดค่าบริการต่ำสุด 300 บาท

รถที่เข้าปางอุ๋งได้ – รถรับจ้างประจำทางในพื้นที่ – รถของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ – รถของหน่วยงานราชการในพื้นที่โครงการ – รถของหน่วยงานราชการที่ได้รับบัตรผ่านจากจังหวัด

– รถของนักท่องเที่ยวที่มีบัตรผ่านค้างแรม เข้าออกพื้นที่ได้ระหว่างเวลา 09.00 – 18.00 น.

รถที่เข้าปางอุ๋งไม่ได้ – รถบัส รถบรรทุกขนาดใหญ่ – รถของนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ ที่เดินทางไปกลับวันเดียว ไม่พักค้างแรมที่ปางอุ๋ง

– รถของนักท่องเที่ยวที่มีบัตรผ่านค้างแรม แต่ทว่า เดินทางมาถึงปางอุ๋งหลังเวลา 18.00 น.

ข้อมูลอื่นๆ
– ที่พักบนปางอุ๋ง จะมีเครื่องปั่นกระแสไฟให้ใช้เฉพาะช่วงเวลา 18.00 – 22.00 น. เท่านั้น เป็นอีกเหตุผลท ี่สั่งห้าม รถเข้า-ออกหลังเวลา 18.00 น. เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง นักท่องเที่ยว ควรเตรียมไฟฉาย ส่องสว่าง และแบตเตอรี สำรองให้เพียงพอต่อการใช้งาน

การเดินทาง

จากตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 108 (สายแม่ฮ่องสอน-ปางมะผ้า-ปาย) ประมาณ 10 กิโลเมตร ให้เลี้ยวซ้ายตามป้ายไปยังบ้านรวมไทย จนถึงปางอุ๋งนั่นก็คือจุดหมายสำหรับการท่องเที่ยวของเราแล้วครับ

LOCATION

_______________________________________________

ดอยเสมอดาว (จ.น่าน)

ดอยเสมอดาว เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่เหมาะสำหรับการกางเต็นท์ในหน้าหนาว โดยที่นี่จะมีลักษณะเป็นภูเขาที่มีลานให้นักท่องเที่ยวพักผ่อน กางเต็นท์ดูดาว เหมาะสำหรับการพักผ่อนชมพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกในเวลาเดียวกัน ที่วิวดีอีกที่หนึ่งเลยที่เดียว ในช่วงหน้าหนาวและฝนยังสามารถเห็นทะแลหมอกในตอนเข้า สำหรับผู้ที่มากางเต็นนอนกลางคืนยังมีโอกาสที่จะพบหิ้งห้อยอีกด้วย อีกทั้งยังมีการชมแสงไฟจากตัวอำเภอนาน้อยในยามค่ำคืนได้อย่างสวยงาม รวมถึงคืนเดือนมืดนั้นก็สามารถมองเห็นดาวได้อย่างชัดเจนจากการสอบถามนักท่องเที่ยวหลายๆคนที่เคยมา

ที่พักดอยเสมอดาว

1. บ้านพัก อุทยานฯ มีบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยว 3 หลัง สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ 0 2-562 0760

2. เต็นท์ จะมีเต็นท์และเครื่องนอน บริการอยู่ โดยสามารถติดต่อจองเต็นท์กับทางอุทยานแห่งชาติได้โดยตรง เต็นท์ที่ให้บริการมี 2 ขนาด ดังนี้ – เต็นท์โดม ขนาด 8 คน

– เต็นท์โดม ขนาด 3 คน

การเดินทาง

1. โดยรถยนต์ส่วนตัว อุทยานแห่งชาติศรีน่านอยู่ห่างจากตัวอำเภอนาน้อย 20 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 1083 สายนาน้อย-ปางไฮ ระหว่างทางมี จุดชมวิว ที่สามารถมองเห็นเทือกเขาที่อยู่ในเขตอุทยานฯ และแม่น้ำน่านที่ไหล คดเคี้ยว ได้อย่างชัดเจน แม่น้ำน่านไหลผ่านอุทยานฯ ไปจนถึงอำเภอปากนาย

2.โดยรถประจำทาง

ใช้รถสายกรุงเทพฯ-น่าน ลงที่อำเภอเวียงสา แล้วต่อรถประจำทาง สายเวียงสา-นาน้อย-นาหมื่น ลงที่สามแยกบ้านใหม่แล้วเหมารถสองแถว เข้าอุทยานฯ

LOCATION 

_______________________________________________

อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว (จ.เพชรบูรณ์)

อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวอยู่ในท้องที่อำเภอหล่มเก่า อำเภอหล่มสัก อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เป็นอุทยานแห่งชาติที่สวยที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นแนวเขตกั้นระหว่างภาคอีสานและภาคเหนือ สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นเทือกเขาสูง มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นต้นน้ำลำธาร มีทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง มีเนื้อที่ประมาณ 603,750 ไร่ หรือ 966 ตารางกิโลเมตร

อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวแห่งนี้้ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของเพชรบูรณ์ ได้รับความนิยมในหมู่นักเดินทางที่ชอบการเดินป่าศึกษาธรรมชาติ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน อากาศจะหนาวเย็นที่สุดในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม อุณหภูมิประมาณ 2-5 องศาเซลเซียส เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำพอง แม่น้ำเลย มีสัตว์ป่าชุกชุมรวมทั้งนกชนิดต่าง ๆ ตามเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติบนเขาสูงผ่านจุดชมวิวริมหน้าผาสวยงาม อาทิ ผากลางโหล่น ผาล้อม ผากอง นอกจากนั้นยังมีถ้ำและน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง

นอกจากนี้ทางอุทยานฯ ได้จัด เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ไว้สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบเดินป่า ได้แก่ เส้นทางแรก เป็นระยะทาง 5 กิโลเมตร เริ่มต้นจากทางแยกใกล้ที่ทำการอุทยานฯ ระหว่างทางจะได้พบเห็นนกชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจะพบรอยช้างจำนวนมาก เส้นทางที่สอง เริ่มจากทางเดินตรงข้ามที่ทำการอุทยานฯ ลัดเลาะผ่านป่าเต็งรัง บ่อดินโป่งซึ่งมีช้าง กวาง และสัตว์อื่น ๆ ทางสายนี้ไปสิ้นสุดที่หน่วยพิทักษ์อุทยานซำบอน ระยะทาง 8 กิโลเมตร และถ้าเดินกลับที่พักต้องเดินเท้าต่อไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร

หากนักท่องเที่ยวที่มีความประสงค์ต้องการเดินชมธรรมชาติต่อสามารถใช้เส้นทางเดินเท้าราบที่ทางอุทยานฯ ได้จัดไว้โดยเริ่มจากหน่วยพิทักษ์อุทยานซำบอนผ่านใจกลางอุทยานฯ สุดทางจะเป็นจุดเด่นอยู่ท่ามกลางสวนสน เมื่อขึ้นไปยืนอยู่บนเนินภูกุ่มข้าวจะเห็นยอดสนในบริเวณสวนสนอยู่ในระดับสายตา ระหว่างทางเดินจะพบสัตว์ป่า เช่น ช้าง กวาง เก้ง ระยะทางหน่วยพิทักษ์ซำบอนถึงสวนสน ประมาณ 12 กิโลเมตร

อัตราค่าเข้าอุทยานฯ นักท่องเที่ยว ชาวไทย ผู้ใหญ่ ราคา 20 บาท เด็ก ราคา 10 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ ราคา 200 บาท เด็ก ราคา 100 บาท

การเดินทาง

ที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ตั้งอยู่ตรงหลักกิโลเมตรที่ 50 ทางหลวงหมายเลข 12 เส้นหล่มสัก-ชุมแพ การเดินทาง จากจังหวัดเพชรบูรณ์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 21 เส้นเพชรบูรณ์-หล่มสัก ถึงสี่แยกหล่มสักประมาณ 39 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตามทางหลวงหมายเลข 12 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 50 เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ และถ้าเดินทางโดยรถประจำทางสามารถขึ้นรถจากจังหวัดขอนแก่น หรืออำเภอหล่มสักซึ่งรถจะผ่านหน้าทางเข้าที่ทำการอุทยานฯ

LOCATION

CR : เขาค้อ.com

Scroll to Top