หาดสำราญ ตั้งอยู่ตำบลหาดสำราญ ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 59 กิโลเมตร ตามทางถนนสายตรัง-ปะเหลียน(ทางหลวงหมายเลข 404) จะเลี้ยวขวาที่สี่แยกบ้านนา ตำบลบ้านนา อำเภอปะเหลียนไปอีก 22 กิโลเมตรหรือใช้บริการรถตู้สายตรัง-ย่านตาขาว ถึงตลาดย่านตาขาวแล้วต่อรถสองแถวสายย่านตาขาว-ปากปรน บริเวณหาดสำราญมีต้นสนหนาแน่นและสามารถมองเห็นเกาะเล็กใหญ่ต่างๆ มีลมพัดตลอดวันเหมาะสำหรับเป็นที่ตากอากาศ นักท่องเที่ยวนิยมมารับประทานอาหารทะเลสดๆ ดูชีวิตความเป็นอยู่ของชาวประมงพื้นบ้าน มีทิวทัศน์หาดทรายชายฝั่งที่สวยงามและมีแหลมตะเสะ สามารถดูนกทะเลได้ตลอดทั้งปีในช่วงที่น้ำ
ประเพณีลากพระทางน้ำ ข้ามทะเล สืบสานประเพณีประจำท้องถิ่น
ด้วยวิถีชีวิตชาวบ้านปากปรน มีความผูกพันกับสายน้ำและท้องทะเลอันดามัน เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการประมง ดังนั้นในช่วงออกพรรษา จึงเป็นจุดกำเนินงานประเพณีชักพระทางน้ำของชาวบ้านปากปรนขึ้น โดยทุกวันออกพรรษาทุกคนจะร่วมแรง ร่วมใจกัน จัดข้าวปลาอาหารลงเรือเพื่อร่วมขบวนลากพระไปตามลำคลองในหมู่บ้าน และข้ามทะเลไปยังเกาะลิบง แหล่งอาศัยของพะยูน และแหล่งดูนกอพยพนับแสนตัว ที่แหลมจุโหย รวมระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ระหว่างนั้นได้มีการประกอบพิธีลอยพระเคราะห์ เพื่อเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา และขอบคุณพระแม่คงคาที่ให้อาชีพจุนเจือครอบครัว ประเพณีลากพระทางทะเล นับเป็นประเพณีโบราณที่ยังคงหลงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในจังหวัดตรัง
ประเพณีเป็นประเพณีที่เก่าแก่และยาวนาน เนื่องจากชาวบ้านปากปรน และพื้นที่ใกล้เคียงเกือบทั้งหมดมีอาชีพทำการประมงวิถีชีวิตจึงเกี่ยวข้องกับแม่น้ำลำคลองและการใช้เรือ ในสมัยก่อนการเดินทางโดยทางบกเป็นไปด้วยความยากลำบาก ประกอบกับช่วงเวลาการทำประมงของชาวบ้านส่วนใหญ่มักจะทำกันในช่วงที่น้ำทะเลขึ้นสูงหรือ น้ำใหญ่ คือ ระหว่างขึ้น 13 ค่ำ ถึงแรม 5 ค่ำ และแรม 13 ค่ำ ถึงขึ้น 5 ค่ำ รวมทั้งไม่มีวัดอยู่ในหมู่บ้าน เมื่อบ้านอื่นมีการลากพระกันในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จึงมักไม่มีโอกาสได้เข้าร่วม ดังนั้น ในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นช่วงที่ว่างเว้นจากการประกอบอาชีพ ชาวบ้านจึงร่วมกันนำเอาเรือที่ใช้กันทำประมงมาประกอบตกแต่งเป็นเรือพระแล้วใช้เรือลำอื่นๆผูกลากไปในคลองปากปรน และได้ถือปฏิบัติสืบทอดกันเรื่อยมานับหลายสิบปีจนถึงปัจจุบัน จนกระทั่งเป็นประเพณีประจำถิ่น เพียงแห่งเดียวของประเทศไทย